วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปาฐกถา “ศิลปะบำบัดเียียวยามนุษย์อย่างไร จากแพทย์มนุษยปรัชญาถึงนักศิลปะบำบัด”

สถาบันศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา ร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ จัดงานปาฐกถา “ศิลปะบำบัดเยียวยามนุษย์อย่างไร จากแพทย์มนุษยปรัชญาถึงนักศิลปะบำบัด” ขึ้น ใน วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ณ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ วิทยากรนำโดย คุณนิโคลา ชไนเดอร์ นายแพทย์โอลาฟ คุปป์ และคุณดำรงค์ โพธิ์เตียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อศาสตร์ศิลปะบำบัด ทางเลือกหนึ่งของสังคมในการดูแลทางจิตใจ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 80 ท่าน ทั้งจากองค์กรภาครัฐ และเอกชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้สนใจทั่วไป

Nicola Schneider Hermann จบการศึกษาศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา ร่วมก่อตั้ง Therapeutikum am Kräherwald ในสตุ๊ทการ์ท ร่วมกับคุณ หมอชาวเยอรมันเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เป็นนักศิลปะบำบัดที่มี ประสบการณ์สูง และเป็นที่ยอมรับในเยอรมันนี  ปาฐกถาในหัวข้อ “ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา” การใช้กระบวนการศิลปะบำบัด เพื่อการเยียวยามนุษย์  คุณ Nicola Schneider Hermann กล่าวถึง คุณภาพของการใช้สีต่างๆในงานบำบัดบนฐานความรู้ของเกอเธ่และ สไตเนอร์ เช่น สีน้ำเงิน (ความสงบ ความเศร้า) สีแดง (ร่าเริง อบอุ่น )      

Dr. Olaf Koob เกิดในปี คศ.1943 และเติบโตในเยอรมันนี ศึกษาการแพทย์ในแนวมนุษย-ปรัชญาโดยเฉพาะทางด้านยา เป็นผู้ก่อตั้งคลินิคสำหรับผู้ติดยาในเยอรมันนีทางตอนใต้ มีงานค้นคว้าวิชาการมากมาย และเป็นผู้ที่เขียนตำราด้านพัฒนาเด็ก รวมถึงเด็กที่มีปัญหาในมิติต่างๆ ปัจจุบันเป็นวิทยากรเดินทางเผยแพร่การแพทย์แนวมนุษยปรัชญาทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนเด็กพิเศษทั้งในอังกฤษ และเยอรมันนี
ปาฐกถาในหัวข้อ “ทัศนะทางการแพทย์ และมุมมองการใช้ศิลปะบำบัด” ศิลปะบำบัดเยียวยา มนุษย์ อย่างไร มุมมองจากแพทย์มนุษยปรัชญา นายแพทย์ Olaf กล่าวถึง โครงสร้างร่างกายของมนุษย์ ที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะลายเส้นโค้ง เช่น ศรีษะ ซี่โครง ข้อต่อ มือเท้า ทำให้เกิดความสัมพันธ์ของจิตวิญญาณผ่านสมอง (จิตสำนึกรู้/สติ) หัวใจ (ความรู้สึก) และเจตจำนงค์/แรงจูงใจในการกระทำ ผ่านระบบการใช้พลังงานของร่างกาย รวมถึงการให้คุณค่ากับระบบอวัยวะหลัก คือ “ตับ” มีความสัมพันธ์กับความโกรธ ความพยายามสร้างแรงจูงใจ “ไต” เป็นความเกี่ยวข้องกับความหวาดความกลัว หายใจขัดในเด็กพัฒนาการช้าและพฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่ง ความดันเลือดสูงต่ำไม่คงที่ “หัวใจ” แสดงถึงความสนุกสนานร่าเริง อวัยวะแห่งแสงอาทิตย์ และสำหรับ “ปอด” มีความเกี่ยวเนื่องกับความโศกเศร้า

ดำรงค์ โพธิ์เตียน
ปาฐกถาในหัวข้อ “ความเป็นมาของมนุษยปรัชญา” ประวัติและความเป็นมาของมนุษยปรัชญา คุณดำรงค์ โพธิ์เตียน กล่าวถึง กายทั้งสี่ในมนุษยปรัชญา ทำให้เราสังเกตรับรู้โครงสร้างคน สัตว์ พืช แร่ธาตุ (กายศาสตร์), สังเกตรับรู้ชีวิตคน สัตว์ พืช ด้วยความรู้สึกถึงการเจริญเติบโต (กายชีวิต), สังเกตรับรู้อารมณ์ด้านต่างๆคนกับสัตว์ (กายแห่งความรู้สึก) และสังเกตรับรู้ความเป็นมนุษย์ (กายฉัน) เช่น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยืนตรงได้และเดินต่อเนื่องเพื่อสร้างสรรค์งานศึกษางานการแพทย์ งานเกษตรและงานสังคมด้านต่างๆ
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยปรัชญา เป็นอาจารย์ด้านวิชามนุษยปรัชญาให้กับสถาบันศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา มีผลงานแปลหนังสือของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ในภาคภาษาเยอรมัน-ไทย : ความลับแห่งอุปนิสัยมนุษย์ การศึกษาของเด็กจากมุมของมนุษยปรัชญา และศาสนาปรัชญา ปัจจุบันพำนักอยู่ในสตุ๊ทการ์ท เยอรมันนี กว่า 40 ปี